วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2552

โครงการสัมมาเชิงปฏิบัติการของสาขาศิลปะภาพถ่าย



โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "การใช้ข้อมูลสารสนเทศ ( Information Technology) และนวัตกรรมเพื่อการเรียนการสอนศิลปภาพถ่าย"
วันศุกร์ที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. ณ ห้องปฏิบัติการภาพถ่ายดิจิทัล อาคาร ๕ ห้อง ๑๓๗

หลักการและเหตุผล

ข้อมูลสารสนเทศ หรือ IT และนวัตกรรมทางด้านการถ่่ายภาพมีการพัฒนาและมีความก้าวหน้าต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว และตลอดเวลา เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้สอนจะต้องพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถและทันต่อความก้าวหน้าทางด้าน IT และนวัตกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความสามารถทางด้า IT และนวัตกรรมเหล่านั้น ให้สามารถเลือกนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสมกับสายงานที่ตนเองรับผิดชอบ

สาขาศิลปะภาพถ่ายเป็นสาขาหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมากและรวดเร็ว การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงการสร้างสรรค์งานภาพถ่ายจากเทคโนโลยีของการใช้ฟิล์มและเคมีทางการถ่ายภาพเดิม ๆ มาสู่กระบวนการและระบบของการสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายในรูปแบบของดิจิทัล ที่แทบจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเคมีหรือห้องมืดเลย

สาขาวิชาศิลปะภาพถ่าย ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการที่จะต้องพัฒนาและกำหนดทิศทางและแนวทางการสร้างบัณฑิตของสาขาฯ ให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองความต้องการของการทำงานในปัจจุบันได้ จึงได้มีการปรับปรุงหลักสูตร มีการพัฒนาห้องแลปดิจิทัลใหม่ขึ้นมา

ขณะนี้สาขาฯ ได้รับอนุมัติและได้จัดการระบบห้องดิจิทัลเกือบสมบูรณ์แล้ว ๑ ห้อง (๕-๑๓๗) สาขาฯ จึงกำหนดการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "การใช้ข้อมูลสารสนเทศ และนวัตกรรมเพื่อการเรียนการสอนศิลปภาพถ่าย" ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
๑. เพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรในสาขาวิชาฯ ให้มีความรู้และทักษะทางด้านไอทีและนวัตกรรมใหม่ ๆ
๒. เพื่อศึกษาและเรียนรู้การใช้ห้องปฏิบัติการดิจิทัล ให้สามารถใช้งานสำหรับการเรียนการสอนในสาขาฯ ได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพสูงสุด

ผู้รับผิดชอบโครงการ : อาจารย์สุขเกษม อุยโต และอาจารย์พิพัฒน์ ลิ้มประไพพงษ์

เป้าหมาย : อาจารย์และผู้ช่วยอาจารย์ สาขาศิลปะภาพถ่าย จำนวน 6 คน
ระยะเวลา : ๑ วัน (วันศุกร์ที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๒) เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น.
สถานที่ : อาคารวิษณุรัตน์ ห้อง ๕-๒๕๓ และ ห้อง ๕-๑๓๗

ประโยชน์ที่คาดว่่าจะได้รับ
๑. บุคลากรได้รับการพัฒนาให้มีความรู้และทักษะทางด้านไอทีและนวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับการสอน
๒. บุคลากรได้เรียนรู้และสามารถใช้งานห้องแลปดิจิทัลสำหรับการเรียนการสอนในสาขาฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

เนื้อหาการสัมมนา
๑. ระบบปฏิบัติการของห้องแลปดิจิทัล และการใช้งาน
๒. เซอร์ฟเวอร์ xerve และการใช้งานเซอร์ฟเวอร์เพื่อการเรียนการสอน
๓. ระบบการเชื่อมโยงระหว่าง xServe และห้องปฏิบัติการ กับการใช้งาน
๔. การใช้ Podcast, Blog, Etc ในการเรียนการสอน
๕. การจัดทำและการใช้ฐานข้อมูลต่าง ๆ ในสาขาฯ เพื่อการสอนและสนับสนุนการสอน

วิทยากร
๑. ทีมวิศวกรระบบ จากบริษัท Support Center จำกัด
๒. คุณอภิสิทธิ์ บุญเรือง ฝ่าย Training จากบริษัท Support Center จำกัด
๓. อาจารย์สุขเกษม อุยโต และอาจารย์พิพัฒน์ ลิ้มประไพพงษ์

วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2552

อาลัย อาจารย์บัณจบ พลาวงศ์ คณบดีผู้ก่อตั้งคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต

ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวพลาวงศ์ ที่ต้องสูญเสียอาจารย์บัณจบ พลาวงศ์


อาจารย์บัณจบ พลาวงศ์  คณบดีผู้ก่อตั้งคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่าง
ผู้มีคุณูปการแก่วงการวิชาการด้านศิลปะมากมายในฐานะที่เป็นคณบดีผู้ก่อตั้งคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต
และในฐานะผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่าง สถาบันการศึกษาด้านศิลปะแห่งหนี่งของประเทศไทย

ท่านอาจารย์บัณจบ พลาวงศ์  ได้เสียชีวิตด้วยอาการอันสงบที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2552
ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดมกุฏกษัตริยาราม ศาลา 13 กำหนด  7 วัน
วันอังคารที่ 31 มีนาคม 2552 มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะศิลปะและการออกแบบ เป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรม
ขอเชิญศิษย์ทั้งหลายร่วมแสดงความเสียใจต่อครอบครัวพลาวงศ์ในครั้งนี้ด้วย

สาขาวิชาศิลปะภาพถ่าย คณะศิลปะและการออกแบบ ปรับปรุงพื้นที่สำหรับห้องปฏิบัติการดิจิทัล

สาขาวิชาศิลปะภาพถ่าย กำลังปรับปรุงพื้นที่ห้องปฏิบัติการ (ห้องมืด) ให้เป็นพื้นที่สำหรับห้องปฏิบัติการดิจิทัล เนื่องจากทางสาขาฯ ได้ทำการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนทางด้านการถ่ายภาพให้เข้าสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับปรุงพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรที่ได้ปรับปรุงขึ้นใช้ใหม่ และในปีการศึกษานี้ทางสาขาศิลปะภาพถ่าย คณะศิลปะและการออกแบบได้ปรับปรุงห้องปฏิบัติการภาพถ่ายดิจิทัลขี้นใหม่ โดยมีจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Mac OS สำหรับผู้เรียนจำนวน 15 เครื่อง (+ 1 เครื่องสำหรับผู้สอน) และระบบ Server สำหรับการจัดการห้องปฏิบัติการอีกส่วนหนึ่งด้วย

การปรับปรุงห้องปฏิบัติการดังกล่าวขึ้นใหม่นี้ ทำให้สาขาฯ มีศักยภาพทางด้านการสอนการถ่ายดิจิทัลได้มากขึ้น และห้องปฏิบัติการนี้จะสามารถเริ่มใช้ได้อย่างเป็นทางการในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 นี้เป็นต้นไป